Portpolio
ความเป็นมา
อัตลักษณ์ : “มุ่งมั่นศึกษา กล้าแสดงออก“
สีประจำโรงเรียน : “เขียว – ม่วง“
ปรัชญา : “สุวิชาโน ภวํ โหติ – ผู้มีความรู้ดี เป็นผู้เจริญ“
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีนโยบายที่จะเปิดดำเนินการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อจะได้สอดคล้องกับแผนพัฒนามหาวิทยาลัย- เกษตรศาสตร์ และเป็นการส่งเสริมขยายงานทางด้านการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในชุมชนด้วย ฉะนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้อนุมัติให้เปิดโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น ณ วิทยาเขตกำแพงแสน ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๒๓ โดยให้คณะศึกษาศาสตร์เป็นฝ่ายรับผิดชอบในการจัดดำเนินการเรียนการสอน ดังนั้นคณะศึกษาศาสตร์จึงวางเป้าหมายที่จะให้โรงเรียนสาธิตเกษตรฯ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาที่จะทำการวิจัยการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในเขตชนบทไปพร้อมกับการทดลองจัดการเรียนการสอนแบบสมรรถฐานและการบริการทางวิชาการแก่ชุมชนด้วย
เมื่อคณะศึกษาศาสตร์ได้รับคำสั่งให้ดำเนินการเปิดการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาขึ้นที่ วิทยาเขตกำแพงแสน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ นั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่ง เจนจิต คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ จึงได้ขออนุมัติจากมหาวิทยาลัยเพื่อให้อาจารย์ของคณะศึกษาศาสตร์มาปฏิบัติราชการประจำที่โรงเรียน สาธิตเกษตรฯ วิทยาเขตกำแพงแสน ในระยะแรกมีทั้งหมด ๑๑ ท่าน เพื่อเตรียมการก่อนเปิดการเรียนการสอนโดยมอบหมายให้ อาจารย์อุดร รัตนภักดิ์ ปฏิบัติราชการในหน้าที่แทนอาจารย์ใหญ่ และอาจารย์อีก ๑๐ ท่าน คือ อาจารย์วังสรรค์ สุฉันทบุตร, อาจารย์ธาตรี แตงเที่ยง, อาจารย์นิตยา สอนอาจ, อาจารย์พงษ์ศิริ เลาหสุรโยธิน, อาจารย์โรจน์วงษ์ นุชสุวรรณ, อาจารย์ปัทมา โอสถเสน, อาจารย์สุนารี หวังไพบูลย์กิจ, อาจารย์สิทธิศักดิ์ นิรทัย, อาจารย์อรวรรณ์ พึ่งงาม และ อาจารย์สมเกียรติ ศรีอนันตคม
ได้เปิดดำเนินการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้น ป.๑ – ป.๓ มีนักเรียน ๑๒ คน โดยวางวัตถุประสงค์ของโรงเรียนในขณะนั้นดังนี้
๑. เพื่อพัฒนาการศึกษา วิจัย และทดลองทฤษฎีทางการศึกษา และจิตวิทยาการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเขตพื้นที่ชนบท เพื่อการพัฒนาการศึกษาชนบท
๒. เพื่อการทดลอง วิจัยเกี่ยวกับหลักสูตรในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในการพัฒนาอาชีพแขนงต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับพื้นภูมิประเทศ
๓. เพื่อเป็นแหล่งสาธิตและเผยแพร่ผลงานการศึกษา เพื่อการพัฒนาการศึกษาชนบทให้มีประสิทธิภาพ และจะเป็นโรงเรียนที่เป็นพี่เลี้ยงสำหรับโรงเรียนในชนบทในพื้นที่ใกล้เคียง
๔. เพื่อเป็นสถานที่สำหรับฝึกปฏิบัติงานของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ในการฝึกปฏิบัติงานครู ฝึกหัดการสอน ทดลองวิจัยเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติการเรียนการสอนตามหลักวิชา
๕. เพื่อเป็นสถานที่สำหรับกุลบุตร กุลธิดา ในท้องที่ชนบทที่จะศึกษาเล่าเรียนตามระดับความสามารถทางสติปัญญา และความถนัด ความสนใจ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาบุคคลในชนบทให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ พร้อมที่จะนำความรู้ ความคิด ความเข้าใจในการแก้ปัญหา และเสริมสร้างชีวิตและสังคมให้ดีขึ้น อันเป็นรากฐานของพลเมืองดี
นอกจากนี้ยังมีคณาจารย์จากคณะศึกษาศาสตร์ ๙ คน ที่ได้มาช่วยงานวิชาการของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยคณบดีได้แต่งตั้งให้เป็นกรรมการวิชาการของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัย -เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ดังรายชื่อต่อไปนี้
๑. อาจารย์ศิริรัตน์ นีละคุปต์ อ.บ., อ.ม., M.A., Ph.D. (Florida State U.)
๒. อาจารย์บรรเทา กิตติศักดิ์ ค.บ., ค.ม. (บริหารการศึกษา)
๓. อาจารย์พรรณี ชูทัยเจนจิต ค.บ., ค.ม., Ed.D. (U. of Northern Colorado)
๔. อาจารย์ยุทธพร แก้ววิเชียร กศ.บ.
๕. อาจารย์สมถวิล ธนะโสภณ อ.บ., M.S., Ed.D. (Oklahoma State U.)
๖. อาจารย์สุนันท์ สังข์อ่อง กศ.บ., M.S. (Florida State U.)
๗. อาจารย์สมมารถ ชื่นอิ่ม วน.บ., M.S. (Utah State U.)
๘. อาจารย์พัวพันธุ์ ทองหยด ค.บ., M.Ed. (U. of Hawaii)
๙. อาจารย์ยุพา นันทะไชย ค.บ. (เกียรตินิยม), ค.ม.
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ทางโรงเรียนได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้จัดการเรียนการสอนระดับอนุบาลศึกษาเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จึงมีการจัดการเรียน การสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จำนวน ๔๕ ห้องเรียน คณาจารย์ ๙๒ ท่าน และนักเรียน ๑,๕๗๔ คน ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๔๖ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้อนุมัติให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากเดิมมาเป็นโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา (Kasetsart University Laboratory School, Kamphaeng Saen Campus, Educational Research and Development Center) โดยมีฐานะเทียบเท่าภาควิชาในคณะศึกษาศาสตร์
นอกจากภารกิจหลักดังกล่าวแล้วโรงเรียนยังได้รับมอบหมายจากคณะศึกษาศาสตร์ให้เป็นหน่วยงานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูให้แก่นิสิตของคณะฯ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอีกหลายแห่งโดยมีคณะกรรมการบริหารโรงเรียนประกอบด้วยคณะกรรมการบริหาร